11/2/52

ชีอะหฺ และ ซุนนีย์

ชีอะหฺ ( ชีอะห์, ชีอะฮฺ หรือ ชีอะฮ์)





เป็นนิกายหนึ่งในอิสลาม ซึ่งมีความแตกต่างกับซุนนีย์ในเรื่องของผู้นำสูงสุด หรือตัวแทนนบีมุฮัมมัด ว่าจะต้องมาจากการแต่งตั้งของอัลลอหฺและนบีมุฮัมมัดเท่านั้น นั้นคืออิมามสิบสองคน อันได้แก่อิมามอะลีย์และบุตรหลานอีก11คน

ชีอะหฺ ตามความหมายของปทานนุกรม หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามหรือผู้ติดตาม ซึ่งบุคคลที่เป็นชีอะหฺหมายถึง บุคคลที่เชื่อว่า ตัวแทนของศาสดามุฮัมมัด(ศ) หลังจากท่านเสียชีวิต เป็นสิทธิของลูกหลานของท่านเท่านั้น ซึ่งพวกชีอะหฺจึงยึดถือและปฏิบัติ ตามแนวทางของลูกหลานของท่านศาสดา(อะฮฺลุลบัยตฺ) ทั้งด้านความรู้ และการปฏิบัติ

การเริ่มต้นชีอะฮฺครั้งแรก เริ่มที่ชีอะหฺของอะลีย์(อ.) (ซึ่งฝ่ายชีอะหฺเชื่อว่าท่านคือผู้นำคนแรกจากบรรดาผู้นำ(อิมาม) ที่บริสุทธิ์ทั้ง 12 ท่าน ภายหลังจากท่านศาสดา (ศ) ) ซึ่งชีอะฮฺของอะลีได้เริ่มต้นตั้งแต่ยุคที่ท่านศาสดายังมีชีวิตอยู่ การเผยแพร่ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ตลอด 23 ปีนั้นเป็นสาเหตุทำให้มีผู้คนจำนวนมากมายเข้ารับอิสลาม มีการเติบโตและเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วการเกิดกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อยเป็นเรื่องธรรดาของการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ได้เกิดขึ้นในหมู่ของเหล่าเศาะฮาบะฮฺ (สาวก) ของท่านศาสดาเช่นกัน

อนึ่ง ชื่อกลุ่มแรกที่ถูกกล่าวในสมัยของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) คือ ชีอะฮฺซึ่งหมายถึงท่าน ซัลมาน อบูซัรฺ มิกดารฺ และท่านอัมมารฺ (ฮาฎิรุ้ลอาลัมมิ้ลอิสลามมี 1 : 188)



ประการแรก

ท่านศาสดาในวันแรกของการแต่งตั้งได้มีบัญชาลงมาว่า ให้ท่านเชิญชวนครอบครัวของท่านเข้ารับศาสนาที่ท่านนำมาเผยแพร่ อัล-กุรอานกล่าวว่า“เจ้าจงเตือนวงศ์ญาติที่ใกล้ชิดของเจ้า” (อัช-ชุอะรออฺ :214)
ในวันนั้นท่านได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า“ใครก็ตามตอบรับคำเชิญชวนของท่านเป็นคนแรก ท่านจะแต่งตั้งให้เขาเป็นตัวแทนของท่านทันที” และท่านอะลี (อ.) เป็นคนแรกที่ตอบรับคำเชิญชวนของท่านศาสดา ซึ่งศาสดาก็ได้ปฏิบัติตามคำสัญญาของท่าน *

ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “ฉันได้กล่าวกับท่านศาสดาว่า ฉันเป็นเด็กกว่าใครเพื่อนและฉันจะได้เป็นตัวแทนของท่านหรือ ขณะนั้นท่านศาสดาได้เอามือมาแตะที่ต้นคอของฉันและกล่าวว่า เขาผู้นี้คือน้องชายของฉันและเป็นตัวแทนของฉัน จำเป็นที่พวกท่านทั้งหลายต้องปฏิบัติตามเขา ซึ่งประชาชนได้พากันหัวเราะเยาะท่านศาสดา และหันไปกล่าวกับอะบีฏอลิบว่า เขาได้สั่งให้ท่านปฏิบัติตามลูกชายของท่าน” (ตารีคฏ็อบรีย์ 2 :321 ตารีคอะบิ้ลฟิดาอฺ 1 :116 อัล-บิดายะฮฺวัลนิฮายะฮฺ3 :39 ฆอยะตุ้ลมะรอม หน้าที่ 320)

แน่นอนเป็นไปไม่ได้ที่วันแรกของการเผยแพร่ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะมีคำสั่งให้ผู้คนไปยึดถือ และปฏิบัติตามตัวแทนของท่าน ในวันนั้นท่านได้แนะนำเพียงแค่ว่า อะลีคนนี้ คือ ผู้นำและเป็นตัวแทนของฉันในวันข้างหน้า และตลอดระยะเวลาของการเผยแพร่อิสลาม ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่เคยถอดถอนท่านอะลีออกจากตำแหน่ง ขณะที่ท่านอะลี (อ.) ก็ไม่เคยแสดงตัวให้แตกต่างไปจากคนอื่น



ประการที่สอง

ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้หลายต่อหลายครั้ง (ทั้งริวายะฮฺที่เป็นมุสตะฟีฏและริวายะฮฺที่เป็นมุตะวาติรฺจากรายงานของสุนนีย์และชีอะฮฺ) ว่า “ท่านอะลีนั้นบริสุทธิ์จากความผิดบาปและไม่ผิดพลาดทั้งคำพูดและการกระทำ”

ท่านหญิงอุมมุสะลามะฮฺ กล่าวว่า ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า อะลีนั้นอยู่กับสัจธรรมและอัล-กุรอาน และสัจธรรมและอัล-กุรอานนั้นอยู่กับอะลีโดยที่ทั้งสองจะไม่แยกออกจากกันจนกว่าจะถึงวันกิยามะฮฺ” หะดีษดังกล่าวนี้มีรายงานจากสุนนีย์ถึง 15 สายรายงาน และจากชีอะฮฺ 11 ส่ายรายงาน ซึ่งมีท่านหญิงอุมมสะลามะฮฺ ท่านอิบนุอับบาส ท่านอบูบากรฺ ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านอะลี อบูสะอีดคุดรีย์ อบูลัยลา และอบูอัยยูบอันศอรีย์เป็นผู้รายงาน (ฆอยะตุ้ลมะรอม หน้าที่ 539-540)

ท่านศาสดาได้กล่าอีกว่า“และทุกๆคำพูดหรือการกระทำที่อะลีได้ทำล้วนตรงกันอย่างสมบูรณ์กับคำเชิญชวนของศาสนา อะลีเป็นผู้ที่มีความรู้ในหลักชะรีอะฮฺ (หลักปฏิบัติ) และความรู้ทั้งหลายของอิสลาม มากที่สุดในหมู่ของประชาชน”

และกล่าวอีกว่า“วิทยปัญญานั้นมี 10 ส่วน 9 ส่วนนั้นอยู่ที่อะลี และอีก 1 ส่วนกระจัดกระจายอยู่ในหมู่ของประชาชน” (อัล-บิดายะฮฺวัลนิฮายะฮฺ 7 :359)




ประการที่สาม


อะลีได้รับใช้อิสลามไว้อย่างมากมาย และการเสียสละของท่านนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะหาสิ่งในมาเทียบเคียงได้ เช่น ท่านเสียสละนอนแทนที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ในคืนของการอพยพหรือในสงครามต่างๆ เช่น สงครามอุฮุด คอนดัก คัยบัรฺ และอื่นๆ ซึ่งสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าถ้าในสงครามเหล่านั้นไม่มีท่านอะลีอยู่ แน่นอนอิสลามคงไม่เติบโตจวบจนถึงปัจจุบัน และคงตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของศัตรู หรือถูกขุดรากถอนโคนไปนานแล้ว*

อนึ่ง เมื่อผู้ปฏิเสธชาวมักกะฮฺตัดสินใจว่า ต้องฆ่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) โดยได้มาล้อมบ้านตั้งแต่หัวค่ำ ท่านศาสดาจึงตัดสินใจอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ และก่อนไปท่านได้สั่งแก่ท่านอะลีว่า “อะลีเจ้าพร้อมที่จะนอนแทนที่ฉันไหม เพื่อจะได้อำพรางพวกศัตรูว่า ฉันยังนอนหลับอยู่พวกเขาจะได้ไม่ติดตามฉัน”ท่านอะลีได้ตอบรับคำของท่านศาสดาด้วยกับความกล้าหาญทั้งที่มีความเสี่ยงสูง และเป็นอันตรายอย่างยิ่ง



ประการที่สี่


เหตุการณ์เกี่ยวกับเฆาะดีรคุม เป็นเหตุการณ์ที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ทำการแต่งตั้งท่านอะลีให้เป็นตัวแทนของท่านต่อหน้าสาธารณชนอย่างเป็นทางการ และถือว่าท่านอะลี คือ “ผู้สืบตำแหน่งของท่าน”

หะดีษเกี่ยวกับเฆาะดีรคุม เป็นหะดีษที่ชัดเจนอย่างยิ่งในหมู่ของ สุนนีย์และชีอะฮฺซึ่งได้มีเศาะฮาบะฮฺเกินกว่า 100 คนเป็นผู้รายงานด้วยตัวบท และสายรายงาที่แตกต่างกันและมีบันทึกไว้ทั้งในตำราของสุนนีย์และชีอะฮฺ หารายเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ฆอยะตุ้ลมะรอม หน้าที่ 79, หนังสืออัลเฆาะดีร อัลลามะฮฺอามีนี

แน่นอน อะลีนั้นมีความประเสริฐเฉพาะตัว ที่แตกต่างไปจากคนอื่นซึ่งเป็นที่เห็นพร้องต้องกันของทุกฝ่ายดังที่มีบันทึกไว้ในตำราต่างๆมากมายเช่น ตารีคยะอฺกูบีย์ พิมพ์ที่นะญัฟ 2 :138 -140 ตารีคอะบิ้ลฟิดาอฺ 1 : 156 เศาะฮีย์บุคคอรีย์ 4 : 107 มุรูญุซซะฮับ 2 : 437 อิบนุอะบิ้ลหะดีด 1 : 127 และหน้าที่ 161 เป็นต้น

ความรักแบบสุดโต่งที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มีต่อท่านอะลี ซึ่งท่านได้แสดงอย่างออกหน้าออกตามีบันทึกอยู่ใน (เศาะฮีย์มุสลิม 15 : 176 เศาะฮีย์บุคคอรีย์ 4 : 207 มุรูญุซซะฮับ 2 : 23 – 2 : 437 ตารีคอะบิ้ลฟิดาอฺ 1 : 127 และหน้าที่ 181 )

โดยธรรมชาติแล้วเศาะฮาบะฮฺส่วนหนึ่งที่มีความเข้าใจถึงแก่นแท้ของความจริง เกิดความหวัง และรอคอยว่า วันหนึ่งข้างหน้าพวกเขาจะได้ปฏิบัติตามท่านอะลีเหมือนกับวันนี้ที่พวกเขาได้ปฏิบัติตามท่านศาสดา (ศ็อลฯ) แต่มีเศาะฮาบะฮฺอีกส่วนหนึ่ง ไม่พอใจต่อการกระทำของท่านศาสดา พวกเขามีความอิจฉาริษยาและเกิดอัคติในใจขึ้น

และนอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาแล้วนามของชีอะฮฺอะลีหรือชีอะฮฺอะฮฺลุลบัยตฺได้ถูกท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวเรียกไว้อย่างมากมายหลายต่อหลายครั้งด้ยวกัน*

ท่านญาบีรฺกล่าวว่า ฉันได้นั่งอยู่ใกล้ๆกับท่านศาสดา และขณะนั้นได้เห็นท่านอะลีเดินมาแต่ไกลซึ่งท่านศาสดาได้กล่าวขึ้นว่า“ฉันขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในฝ่ามือของเขาว่า ชายผู้นี้และชีอะฮฺของเขาคือผู้สัตย์จริง ที่จะได้รับความช่วยเหลือในวันกิยามะฮฺ” ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่าเมื่อโองการ“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา และประพฤติสิ่งดีงามต่างๆ พวกเขาเหล่านั้นเป็นมนุษย์ที่ดีที่สุด” (อัล-บัยยินะฮฺ: 7) ได้ถูกประทานลงมา ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับท่านอะลีว่า หลักฐานที่ยืนยันถึงโองการดังกล่าวคือเจ้าและชีอะฮฺของเจ้า ซึ่งในวันกิยามะฮฺเจ้าจะพึงพอใจในพระองค์ และพระองค์ทรงพึงพอพระทัยต่อเจ้า” (หะดีษทั้งสองกับอีกหลายหะดีษมีกล่าวไว้ใน ตับสีรฺอัด-ดูรุ้ลมันษูรฺ 6 : 379 และฆอยะตุ้ลมะรอม หน้าที่ 326 )




หลักศรัทธาของชีอะหฺ


เตาฮีด (เอกภาพ) คือศรัทธาว่าอัลลอหฺทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกเหนือจากพระองค์ ศรัทธาว่าพระองค์มีอำนาจเหนือทุกสิ่ง พระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงสร้าง และพระผู้ทรงกำหนด

  1. อะดาละหฺ (ความยุติธรรม) คือศรัทธาว่าอัลลอหฺทรงยุติธรรมยิ่ง


  2. นุบูวะหฺ (ศาสดาพยากรณ์) คือศรัทธาว่าอัลลอหฺได้ทรงส่งศาสนทูตต่าง ๆ ที่อัลลอหฺได้ทรงส่งมายังหมู่มนุษย์ หนึ่งในจำนวนนั้นคือนบีมุฮัมมัด ที่ได้รับคัมภีร์อัลกุรอาน ในนั้นมีคำสั่งสอนให้มนุษย์ศรัทธาต่ออัลลอหฺ ศรัทธาในบรรดามะลาอิกะหฺ ทาสผู้รับใช้อัลลอหฺ มีบทบัญญัติ และพงศาวดารของประชาชาติในอดีต เพื่อเป็นข้อคิดและอุทธาหรณ์


  3. อิมามะหฺ (การเป็นผู้นำ) ศรัทธาว่าผู้นำสูงสุดในศาสนาจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากศาสนทูตมุฮัมมัดเท่านั้น จะเลือกหรือแต่งตั้งกันเองไม่ได้ ผู้นำเหล่านั้น มี 12 คนคือ อะลีย์ บินอะบีฏอลิบและบุตรหลานของอะลีย์ และฟาฏิมะหฺอีก 11 คน


  4. มะอาด (การกลับคืน) ศรัทธาในวันฟื้นคืนชีพ คือหลังจากสิ้นโลกแล้ว มนุษย์จะฟื้นขึ้น เพื่อรับการตอบสนองความดีความชั่วที่ได้ทำไปบนโลกนี้
    ทัศนะที่หลายฝ่ายมีต่อชีอะห์ ผู้ยึดตามครอบครัวของท่านศาสดา(ศ.) กล่าวหาว่า ชีอะห์นั้นเป็นคนละศาสนา โดยปราศจากเหตุผล ที่จะรับได้ แต่ในความเป็นจริง ชีอะห์อิมาม 12 นั่นเอง คือ อิสลามที่แท้จริง


ซุนนีย์ (นิยมอ่านว่า อะหฺลุซซุนนะหฺ วัลญะมาอะหฺ)



คือนิกายหนึ่งในศาสนาอิสลาม มีชื่อเต็มในภาษาอาหรับว่า อะหฺลุซซุนนะหฺ วะ อัลญะมาอะหฺ (أهل السنة والجماعة) เป็นนิกายที่ใหญ่ที่สุดในอิสลาม แบ่งเป็นสำนักหรือมัซฮับย่อย ๆ ออกเป็นหลายมัซฮับ แต่ปัจจุบันเหลือแค่เพียง 4 มัซฮับ นอกจากนี้ยังมีมัซฮับมุสลิมซุนนีย์ที่ไม่ยึดถือมัซฮับ เรียกตนเองว่า พวกสะละฟีย์
ที่มาของคำ ซุนนีย์

คำว่า ซุนนีย์ มาจาก อัซซุนนะหฺ (السنة)แปลว่า คำพูดและการกระทำหรือแบบอย่างของศาสดามุฮัมมัด (ศ) คำว่า ญะมาอะหฺ คือ การอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ผู้ที่บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นมาคือ อะฮฺมัด บินฮันบัล (ฮ.ศ. 164-241 / ค.ศ. 780-855)

คำว่า “السنة - อัซซุนนะหฺ” เป็นคำที่ท่านนบีมุฮัมมัด มักจะใช้บ่อยครั้งในคำสั่งสอนของท่าน เช่น ในฮะดีษศ่อฮีฮฺที่บันทึกโดยอิมามอะฮฺมัด, อัตติรมีซีย์, อะบูดาวูด และอิบนุมาญะหฺ ซึ่งท่านนบีได้กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงยึดมั่นในแนวทางของฉัน( سُنَّتِي ) และแนวทางของผู้นำที่อยู่ในแนวทางอันเที่ยงธรรมของฉัน(อัลคุละฟาอ์ อัรรอชิดูน)ที่จะมาหลังฉัน จงเคร่งครัดในการยึดมั่นบนแนวทางนั้น จงกัดมันด้วยฟันกราม(คืออย่าละทิ้งเป็นอันขาด) และจงหลีกให้พ้นจากอุตริกรรมในกิจการของศาสนา เพราะทุกอุตริกรรมในกิจการศาสนานั้นเป็นการหลงผิด”

อะหฺลุซซุนนะหฺ วะ อัลญะมาอะหฺฺ ( أَهْلُ السُّنَّةِ وَالْجَمَاعَةِ ) ก็คือ ผู้ที่ยึดมั่นในซุนนะหฺ(แนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด) และยึดมั่นในสิ่งที่บรรดากลุ่มชนมุสลิมรุ่นแรกยึดมั่น(บุคคลเหล่านั้นคือบรรดาศ่อฮาบะหฺและบรรดาตาบิอีน) และพวกเขารวมตัวกัน(เป็นญะมาอะหฺ) บนพื้นฐานของซุนนะหฺ ซึ่งชนกลุ่มนี้อัลลอหฺได้กล่าวถึงความประเสริฐของพวกเขาไว้ว่า “บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากนครมักกะหฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากนครมะดีนะหฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอหฺทรงพอพระทัยในพวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งสวนสวรรค์อันหลากหลายที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านเบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง” (ซูเราะหฺอัตเตาบะหฺ : 100)


ประวัติ


ในสมัยการปกครองของยะซีด บินมุอาวิยะหฺ คำสั่งสอนแห่งอัลกุรอานและแห่งศาสนทูตถูกละทิ้ง ชาวมะดีนะหฺผู้เคร่งครัดถูกได้รับความกดดันจากตระกูลอุมัยยะหฺผู้ปกรองอาณาจักรอิสลาม และภายใต้ความกดดันนั้นได้เกิดหล่อหลอมเป็นกลุ่มผู้ยึดมั่นในแนวทางอิสลามแบบเดิม เพื่อต่อต้านตระกูลอุมัยยะหฺ โดยเฉพาะหลังจากที่กองทัพจากชาม ในสมัยการปกครองของยะซีด บินมุอาวิยะหฺ ได้สังหารฮุเซน หลานตาศาสนทูตมุฮัมมัด พร้อมกับญาติพี่น้อง ที่กัรบะลาอ์ 73 คนในปี ค.ศ.680 และต่อมาในปี ค.ศ.683 ยะซีดส่งกองทัพเพื่อโจมตีพระนครมะดีนะหฺที่อับดุลลอหฺ บินอุมัร อิบนุลคอฏฏอบ เป็นผู้นำในการต่อต้านการปกครองของยะซีด และโจมตีมักกะหฺ ที่อับดุลลอหฺ อินนุซซุเบรสถาปนาตนเองเป็นคอลีฟะหฺแห่งอาณาจักรอิสลาม ชาวเมืองมะดีนะหฺร่วมกันออกต้านทัพของยะซีด ที่นำโดยอุกบะหฺ ณ สถานที่ ที่มืชื่อว่า อัลฮัรเราะหฺ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จนกองทัพของยะซีดสามารถเข้าปล้นสะดมเมืองมะดีนะหฺ เป็นเวลาสามวันสามคืนตามคำสั่งของยะซีด ทหารชาม เข่นฆ่าผู้คน และข่มขืนสตรี จนกระทั่งมีผู้คนล้มตายประมาณ 10,000 คน ในจำนวนนั้นมีบุคคลสำคัญ 700 คน นอกจากนั้นมีผู้หญิงตั้งท้องเนื่องจากถูกข่มขืนชำเราอีก 500 คน หลังจากนั้นกองทัพชามก็มุ่งสู่มักกะหฺเพื่อปราบปราม อิบนุซซุเบร โดยเข้าเผากะอฺบะหฺ และเข่นฆ่าผู้คน ประชาชนชาวมุสลิมต่อต้านการปกครองตลอดมา แต่แล้วในปี ค.ศ.692 อับดุลมะลิก บินมัรวานก็ส่ง ฮัจญาจญ์ บินยูสุฟ อัษษะกอฟีย์ มาโจมตีมักกะหฺอีกครั้ง ครั้งนี้อับดุลลอหฺ อิบนุซซุเบร ถูกสังหารและศพถูกตรึงที่ไม้ ปักไว้หน้ากะอฺบะหฺ ส่วนกะอฺบะหฺก็ถูกทำลาย

ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนในอาณาจักรอิสลามแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มชนใหญ่ ๆ พวกที่ฝักใฝ่ทางโลกก็สนับสนุนการปกครองของตระกูลอุมัยยะหฺ พวกที่ต่อต้านการปกครองระบอบคอลีฟะหฺ ยึดถือบุตรหลานศาสนทูตเป็นผู้นำก็คือพวกชีอะหฺ พวกที่เชื่อว่าบรรดาสาวกคือผู้นำและสานต่อสาส์นแห่งอิสลามหลังจากนบีมุฮัมมัด พวกนี้คือ อะหฺลุซซุนนะหฺ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้มีการบัญญัติศัพท์นี้ เพราะ คำว่า ซุนนะห วัลญะมาอะหฺ ถูกบัญญัติขึ้นมาจริง ๆ โดยอะฮฺมัด บินฮันบัล (ค.ศ.780-855/ฮ.ศ.164-241) นอกจากนี้ยังมีพวกคอวาริจญ์ ที่เป็นกบฏและแยกตัวออกจากอำนาจการปกครองของอิมามอะลีย์ เมื่อครั้งที่เป็นคอลีฟะหฺที่ 4


ในฮิจญ์เราะหฺศตวรรษที่ 3 และที่ 4 ได้มีการรวบรวมฮะดีษขึ้นมา จัดเป็นอนุกรมและหมวดหมู่ เรียกในภาษาไทยว่า พระวจนานุกรม ในสายอะหฺลุซซุนนะหฺ มีมากกว่า 10 พระวจนานุกรม ที่สำคัญคือ 6 พระวจนานุกรม ที่ผู้รวบรวม โดย อัลบุคอรีย์, มุสลิม, อัตตัรมีซีย์, อะบูดาวูด, อิบนุมาญะหฺ และอันนะซาอีย์ นอกจากนี้ยังมีพระวจนานุกรมที่รวบรวมโดย มาลิก บินอะนัส (เจ้าสำนักมาลิกีย์), อะฮหมัด บินฮันบัล (เจ้าสำนักฮันบะลีย์), อิบนุคุซัยมะหฺ, อิบนุฮิบบาน และอับดุรรรอซซาก ในยุคหลังนี้ได้มีการตรวจสอบสายรายงานอย่างถี่ถ้วน พระวจนานุกรมอัลบุคอรีย์และมุสลิมได้รับการยอมรับมากที่สุดในสังคมมุสลิมซุนนีย์



สำนัก หรือ ทัศนะ นิติศาสตร์อิสลาม


ชะรีอะหฺ (شريعة) หรือ นิติบัญญัติอิสลามตามทัศนะของซุนนีย์นั้น มีพื้นฐาน มาจากอัลกุรอานและซุนนะหฺ (อิจย์มาอฺ) มติฉันท์ของเหล่าผู้รู้ และกิยาส (การเปรียบเทียบกับบทบัญญัติที่มีอยู่แล้ว) นิกายซุนนีย์มีในอดีตมี 17 สำนัก แต่ได้สูญหายไปกับกาลเวลา ในปัจจุบันนิกายซุนนีย์มี 4 สำนัก ที่เป็นสำนักเกี่ยวกับฟิกหฺ (นิติศาสตร์อิสลาม) ได้แก่



  1. ฮะนะฟีย์ (ทัศนะของอะบูฮะนีฟะหฺ นุอฺมาน บินษาบิต)

  2. มาลีกีย์ (ทัศนะของมาลิก บินอะนัส)

  3. ชาฟีอีย์ (ทัศนะของมุฮัมมัดมัด บินอิดริส อัชชาฟิอีย์) - ผู้ที่ยึดถือทัศนะนี้คือ คนส่วนใหญ่ในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

  4. ฮันบะลีย์ (ทัศนะของท่านอะฮฺมัด บินฮันบัล)

ปัจจุบันมีอีกกลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มที่ไม่ได้ยึดถือหรือสังกัดตนอยู่ใน 4 กลุ่มข้างต้น แต่การวินิจฉัยหลักการศาสนาจะใช้วิธีศึกษาทัศนะของทั้ง 4 กลุ่มแล้ววิเคราะห์ดูว่าทัศนะใดที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยยึดอัลกุรอานและซุนนะฮฺเป็นธรรมนูญสำคัญในการวินิจฉัยเรื่องต่างๆในศาสนา
สำนัก หรือ ทัศนะ เกี่ยวกับอุศูลุดดีน (ปรัชญาศาสนา)

นอกจากนี้ยังมีสำนักเกี่ยวกับอุศูลุดดีน (ปรัชญาศาสนา) อีกหลายสำนัก ที่สำคัญได้แก่ 4 สำนักคือ
สำนักมุอฺตะซิละหฺ (معتزلة) จัดตั้งขึ้นโดย วาศิล บินอะฏออ์ (ค.ศ.699-749) ศิษย์ที่มีความคิดแตกต่างจากฮะซัน อัลบัศรีย์ (ค.ศ.642-728) ผู้เป็นอาจารย์

สำนักอัชอะรีย์ มาจากแนวคิดของอะบุลฮะซัน อัลอัชชะรีย์(ค.ศ.873-935) แต่ผู้ที่พัฒนาแนวคิดนี้ คือ อัลฆอซาลีย์ นักวิชาการศาสนาและปรมาจารย์ศูฟีย์

สำนักมาตุรีดีย์ เป็นทัศนะของอะบูมันศูร อัลมาตุรีดีย์ (มรณะ ค.ศ.944) ในตอนแรกเป็นสำนักปรัชญาของชนกลุ่มน้อย ต่อมาเมื่อเป็นที่ยอมรับของเผ่พันธุ์เติร์ก และพวกออตโตมานมีอำนาจ ก็ได้ทำให้สำนักนี้แพร่หลายในเอเชียกลาง

สำนักอะษะรีย์ เป็นทัศนะของ อะฮฺมัด บินฮันบัล ผู้เป็นเจ้าสำนักฟิกหฺดังกล่าวมาแล้ว
หากมุอฺตะซิละหฺแยกตัวออกจากสำนักของ ฮะซัน อัลบัศรีย์ ย่อมแสดงว่าก่อนหน้านั้นต้องมีสำนักปรัช ญามาก่อนแล้ว ฮะซัน อัลบัศรีย์ เองก็มีแนวคิดของตนเช่นกัน นั่นก็เพราะ ฮะซัน อัลบัศรีย์ เป็นปรมาจารย์ของสำนักศูฟีย์ ที่ภายหลังแตกขยายเป็นหลายสาย

1 ความคิดเห็น: